เกี่ยวกับ (ARIT Net #5)

การประชุมสัมมนาเครือข่าย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ครั้งที่ 5 (ARIT Net #5) และการสัมมนาทักษะผู้สอนสาขาคอมพิวเตอร์

ด้วยปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทอย่างสูงในการบริหารองค์กรและเป็นเครื่องมือที่สําคัญ ในการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสนับสนุนการดําเนินงานในทุกๆด้าน ตั้งแต่การศึกษา พาณิชยกรรม เกษตรกรรม อุตสาหกรรม สาธารณสุข การวิจัยและพัฒนา เพื่อให้การดําเนินงานด้านนั้นๆ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น แต่หากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมีอยู่ตลอดเวลาและเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทุกหน่วยงานจําเป็นต้องมีการปรับแนวคิดและวิธีการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพ โดยมีการปรับวิธีการจัดการใหม่ๆ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุนการปฏิบัติงานให้บรรลุตามเป้าหมายขององค์กร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง จึงต้องพัฒนาตนเองให้เป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานไอซีทีในการสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน การวิจัย การบริการทางวิชาการ รวมทั้งการบริหารจัดกาข้อมูลและการจัดทำระบบสารสนเทศในด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาองค์กรก้าวเข้าสู่การเป็น มหาวิทยาลัยดิจิทัล

ในการนี้ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นเจ้าภาพในการจัดโครงการประชุมสัมมนาเครือข่ายสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ครั้งที่ 5 เพื่อเป็นการหาแนวทางการพัฒนาและแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็น เพื่อก้าวไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล และเป็นการสร้างเครือข่ายของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ให้สามารถตอบสนองนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปในทิศทางเดียวกันได้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จึงจัดให้มีการประชุมสัมมนาเครือข่ายสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ครั้งที่ 5 ขึ้นในระหว่างวันที่ 11 – 12 กรกฎาคม 2562 ณ เคนซิงตัน อิงลิซ การ์เด้น รีสอร์ท เขาใหญ่ อ.ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

วัตถุประสงค์

1. เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลต่างๆ ในการดำเนินงานของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ
2. เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้บริหารและบุคลากรของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้ง 9 มทร.
3. เพื่อสร้างเครือข่ายของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้ตอบสนองนโยบายดิจิทัล
4. เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการวัดมาตรฐานและการให้บริการระบบสารสนเทศร่วมกัน
5. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับความรู้ด้านเครือข่าย Hardware and Software ที่ทันสมัยเป็นปัจจุบัน

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1. ผู้เข้าร่วมโครงการมีการแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลต่างๆ ในการดำเนินงานของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ
2. ผู้เข้าร่วมโครงการกลุ่มผู้บริหารได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้บริหารงานสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ
3. กลุ่มเครือข่ายมีกระบวนการดำเนินกิจกรรมขับเคลื่อนนโยบายมหาวิทยาลัยดิจิทัลร่วมกัน
4. มีการรวมกลุ่มและจัดตั้งเครือข่ายของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้ตอบสนอง นโยบายดิจิทัล
5. ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับความร่วมมือด้านการวัดมาตรฐานและการให้บริการระบบสารสนเทศร่วมกันทั้ง 9 มทร.
6. ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีเครือข่าย Hardware and Software อย่างเป็นระบบและมีมาตรฐานเดียวกัน